HIV/AIDS

เอชไอวีและเอดส์คืออะไร?

  

เอชไอวี หรือ HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นชื่อของไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์บกพร่องนั่นเอง
เมื่อติดเชื้อ จะทำให้ภูมิคุ้มกัน (ความสามารถในการป้องกันจุลชีพก่อโรค) ค่อยๆ ลดลง และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
เอดส์ หรือ AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเป็นสภาวะที่ร่างกายเริ่มมีโรคแทรกซ้อนจากการที่ระดับภูมิคุ้มกันลดน้อยลง (*)
แม้ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ผู้ติดเชื้อแต่ละรายใช้เวลาแสดงอาการของโรคเอดส์แตกต่างกันไป โดยมีทั้งรายที่อาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและรายที่ใช้เวลานานหลายปี

เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว เชื้อจะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต แต่หากเริ่มรับประทานยาต้านไวรัส (ที่เรียกว่า Antiretroviral Therapy หรือ ART) จะสามารถควบคุมปริมาณไวรัสในเลือดเอาไว้จนตรวจหาไม่พบ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้คู่นอนติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ก็จะลดลงไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำอย่างยิ่งให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนเข้ารับการรักษา
การตรวจหาเชื้อและการรักษาเอชไอวีอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญมาก

เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อผ่านทางน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด เมื่อมีเพศสัมพันธ์ จากการติดเชื้อทางเลือด หรือการถ่ายทอดเชื้อผ่านน้ำนมจากแม่สู่ลูก
ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ในการติดเชื้อในชีวิตประจำวัน การไปโรงเรียนหรือสถานที่ทำงานทั่วไป

 http://www.acc.go.jp/information/mhlwinfo/surveillance.html

จะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร

ช่องทางการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุดคือการมีเพศสัมพันธ์
การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อกันไม่ให้น้ำอสุจิ และน้ำหล่อลื่นช่องคลอดที่มีเชื้อเอชไอวีปริมาณมากมาสัมผัสเยื่อเมือก และ/หรือผิวหนังที่ฉีกขาด เป็นสิ่งสำคัญมาก และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างดี
การมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านทางเยื่อเมือกในปากได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรใช้ถุงยางอนามัย
มีวิธีป้องกันโดยใช้ยาต้านไวรัส แต่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ครอบคลุมอยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากการรับประทานยาต้านไวรัสแล้ว สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องไปตรวจหาเชื้อและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา ควบคู่ไปกับการปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย

U=U

U=U ย่อมาจาก Undetectable (ไม่เจอ) = Untransmittable (ไม่แพร่) หมายถึงการที่ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจนมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดต่ำมากจนตรวจไม่พบ ก็จะไม่แพร่เชื้อให้คู่นอนเมื่อมีเพศสัมพันธ์
U=U (ไม่เจอ = ไม่แพร่) ได้แสดงให้เห็นว่าบริการตรวจหาเชื้อและรักษาเอชไอวีให้รวดเร็ว อย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง เป็นหนทางที่สำคัญและแน่นอนที่สุดที่จะยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวี อีกทั้งยังเป็นสโลแกนระดับโลกเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมให้ปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี นี่เป็นข้อความที่บอกว่าพวกเขายังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงชีวิตด้านเพศได้ตามปกติแม้จะตรวจพบการติดเชื้อแล้วก็ตาม
 https://hiv-uujapan.org/

การรักษาด้วยยาเพ็พ (PEP)

ยาเพ็พ หรือ PEP ย่อมาจาก Post Exposure Prophylaxis ช่วยป้องกันการติดเชื้อหลังจากการสัมผัสเชื้อ

เป็นแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยการเริ่มรับประทานยาต้านไวรัส ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีกิจกรรมที่อาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวี (หลังการสัมผัสเชื้อ)
ยาเพ็พมักใช้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุสัมผัสเชื้อจากการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เช่น ถูกทิ่มตำจากอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้งานกับผู้ป่วยที่มีผลเลือดเป็นบวก (HIV-positive) หรือในกรณีที่ทราบภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ว่าคู่นอนติดเชื้อเอชไอวี
เมื่อเริ่มการรักษาด้วยยาเพ็พแล้ว จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสต่อเนื่องไป 28 วัน

บุคคลใดบ้างที่ควรได้รับยาเพ็พ?

กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน (ตัวอย่างเช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย) ในช่วยเวลา 72 ชั่วโมง ที่ผ่านมา
 http://www.acc.go.jp/general/pep_jpn.html
กรณีที่ทราบว่าคู่นอนมีผลเลือดเป็นลบ (HIV-negative) หรือตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว ไม่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของยาเพ็พ
คุณจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาเพ็พ

ข้อควรระวังของยาเพ็พ

ในการรักษาด้วยยาเพ็พ คุณจะต้องรับประทานยาต้านไวรัส 3 ชนิดแบบเดียวกับที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเวลา 28 วัน
ยาต้านไวรัสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน
ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อยที่สามารถบรรเทาได้โดยยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แต่บางกรณีอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต
ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้าตรวจวินิจฉัยในวันที่ 14 หลังเริ่มรับประทานยาเพ็พ โดยหากไม่มีอาการข้างเคียงใดจะจัดยาสำหรับ 14 วันที่เหลือให้
ควรปฏิบัติตามที่แพทย์ของคุณแนะนำ และรับการตรวจวินิจฉัยอย่างต่อเนื่อง
ประเทศญี่ปุ่นยังไม่รับรองให้ยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกันหลังสัมผัสเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นยาใช้ภายใน
คุณไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพของตนเองได้ ดังนั้นคุณต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
นอกจากค่ายารักษาแล้ว ยังมีค่าตรวจและปรึกษาที่เพิ่มเติมเข้ามาตามความจำเป็น

การรักษาด้วยยาเพร็พ(PrEP)

ยาเพร็พ หรือ PrEP ย่อมาจาก Pre Exposure Prophylaxis เป็นการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อ
เป็นแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยการรับประทานยาต้านไวรัสหากไม่เป็นผู้ติดเชื้อ

แม้จะไม่จำเป็นทีทุกคนต้องรับประทานยาเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นวิธีที่ได้ผลดีในกลุ่มผู้มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน แม้ไม่สามารถรับประกันว่าจะป้องกันได้ 100%

ปัจจุบัน ยาเพร็พประกอบด้วยยาต้านไวรัส 2 ชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้
วิธีการรักษาด้วยยาเพร็พมีหลากหลายและกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และอาจมีทางเลือกในการรับประทานยาเพร็พเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

บุคคลใดบ้างที่ควรได้รับยาเพร็พ?

ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีสามารถรักษาด้วยยาเพร็พได้
อาจเป็นคู่นอนที่ติดเชื้อซึ่งไม่ได้รับยาเพียงพอ ผู้ที่เพิ่งติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่มีมักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยหลายครั้ง

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้จำเป็นต้องรับประทานยาเพร็พทุกคน
ควรเริ่มรับประทานยาเพร็พหลังจากการประเมินความเสี่ยงและได้รับการยืนยันจากแพทย์เรียบร้อยแล้ว

ข้อควรระวังของยาเพร็พ

จำเป็นต้องรับประทานยาเพร็พก่อนการมีเพศสัมพันธ์ (ก่อนสัมผัสเชื้อ)
หากลืมรับประทานยาหรือรับประทานผิดวิธี อาจทำให้ไม่ได้รับประสิทธิผลสูงสุด
ควรรับประทานยาภายใต้การดูแลแนะนำของแพทย์เสมอ
เช่นเดียวกัน แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน แม้ไม่สามารถรับประกันว่าจะป้องกันได้ 100%
โปรดปรึกษาแพทย์หากคุณต้องการหยุดรับประทานยาเพร็พ
จำเป็นต้องพบแพทย์ที่สถาบันการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส และตรวจหาว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
หากคุณรับประทานยาเองโดยพลการ คุณจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงโดยไม่ทราบได้ก่อน และมีความเสี่ยงที่คุณจะติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์จนดื้อยา (ไวรัสที่ยาใช้ไม่ได้ผล)
การรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกันยังไม่ได้รับการรับรองในประเทศญี่ปุ่น
มีผู้นำเข้ายาเพร็พด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากการซื้อยามารับประทานเองเป็นเรื่องอันตรายมาก โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาเสมอไม่ว่ากรณีใดๆ

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี

ควรตรวจเมื่อใด?

"หลังจากติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดเชื้อจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ไข้สูง และผดผื่น ปรากฏในช่วง 2-6 สัปดาห์แรก แต่อาการจะหายไปในเวลาไม่นาน โดยมากจึงมักไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว
แม้จะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ก็ควรเข้ารับการตรวจหากรู้สึกกังวล"

สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่เปิดเผยตัวตนได้ที่สถานพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่ง
หากเพียงต้องการตรวจหาว่าผลเป็นลบหรือไม่ สามารถไปศูนย์ตรวจหาเชื้อที่ให้บริการ "การตรวจแล้วทราบผลในวันเดียวกัน" ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ระยะหลังมานี้ เริ่มมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยใช้ชุดตรวจที่ส่งให้ทางไปรษณีย์โดยแพร่หลายไปทั่วโลก

สามารถรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ที่หน่วยบริการทางการแพทย์เช่นกัน
มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2 โรคหรือมากกว่านั้นในคราวเดียว
หากมีเรื่องกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรีรอ

ประกาศ

"ปัจจุบันบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีตามปกติในสถานีอนามัยอาจลดน้อยลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ในปัจจุบัน
หากต้องการเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี กรุณาตรวจสอบเว็บไซต์ของสถานพยาบาลล่วงหน้า"