What is Sexual Health?

การคุกคามและความรุนแรงทางเพศ

การคุกคามคืออะไร

  

“การคุกคาม (Harassment)” หมายถึงพฤติกรรมทางวาจาที่เป็นการ “รังควาน” หรือ “กลั่นแกล้ง” ในสถานการณ์ต่าง ๆ พฤติกรรมใด ๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ ทำให้เสียศักดิ์ศรี เสียเปรียบ หรือเป็นการขู่เข็ญ ล้วนเป็นการคุกคามทั้งหมดโดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัวจะมีเจตนาทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดหรือไม่ก็ตาม
การคุกคามทางเพศมีรูปแบบดังต่อไปนี้ ซึ่งการคุกคามแต่ละแบบมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันอยู่ไม่น้อย เราอาจได้รับการคุกคามหลายรูปแบบในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ เรามักจะคิดกันว่าผู้หญิงเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ แต่ที่จริงแล้วมีผู้ชายที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน การคุกคามไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศใด

การคุกคามทางเพศ

หมายถึงพฤติกรรมทางวาจาและการกระทำทางเพศที่ทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจหรือรู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรี

การล่วงละเมิดทางเพศสภาพ

หมายถึงการกลั่นแกล้งหรือพฤติกรรมทางวาจาที่มีอคติอันเกิดจากความเดียดฉันท์ที่มีอยู่ก่อนหรือแนวคิดต่อการเลือกปฏิบัติ การประเมินค่าหรือการกำหนดนิสัยหรือความสามารถด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นหญิงหรือชายแต่เพียงเหตุผลเดียวนับว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศสภาพเช่นกัน

การคุกคามผู้ตั้งครรภ์

หมายถึงการกลั่นแกล้งโดยเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การลาพักเลี้ยงดูบุตร การลาพักเพื่อดูแลครอบครัว ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ในที่ทำงาน การลาพักงานด้วยเหตุผลเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมในการจ้างงานชายหญิงและกฎหมายการลาพักเลี้ยงดูบุตรและดูแลครอบครัวระบุว่าห้ามกระทำการคุกคามผู้ตั้งครรภ์

การคุกคามทางศีลธรรม

หมายถึงการใช้ความรุนแรงทางจิตใจโดยใช้ศีลธรรมของตนในการทำร้ายบุคลิกภาพและศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย ในทางปฏิบัติจริงยังมีการใช้ความรุนแรงทางร่างกายประกอบกันด้วย การคุกคามประเภทนี้ต่างจากการข่มเหงรังแกในการทำงานตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ทางการงาน แต่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชั้นเรียน ลูกน้องข่มเหงเจ้านาย ตลอดจนสามีภรรยา พ่อแม่ลูก คนรัก และระหว่างเพื่อนด้วยกันได้เช่นกัน

การข่มเหงรังแกในการทำงาน

หมายถึงพฤติกรรมที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจหน้าที่การงานในการกลั่นแกล้งอีกฝ่าย รวมถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว การข่มขู่หรือสบประมาทด้วยท่าทีที่บังคับขู่เข็ญ การใช้ความรุนแรง ดุด่า เมินเฉย การมอบหมายงานที่ไม่เหมาะกับความสามารถ ตลอดจนการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการบังคับให้ร่วมประเวณี

การล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดในรูปแบบใด ๆ

หมายถึงการที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดปรึกษาเรื่องที่ถูกคุกคามกับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายแล้วกลับถูกตำหนิหรือถูกกลั่นแกล้งยิ่งกว่าเดิม คำพูดที่ว่า “ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเรื่องแบบนั้น” “สาเหตุก็อยู่ที่ตัวคุณเช่นกัน” หรือคำพูดอื่น ๆ ตลอดจนการแก้แค้นหรือความพยายามที่จะปกปิดความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปรึกษาดังกล่าวก็นับว่าเป็นการล่วงละเมิดประเภทนี้เช่นกัน

หากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

ขอแนะนำให้รีบจัดการหรือรับมือต่อการบาดเจ็บภายนอก ความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หรือความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความรุนแรงทางเพศโดยเร็วที่สุด
ช่องทางปรึกษาสำหรับทั่วประเทศ ได้แก่ “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงทางเพศ” และยังมี “ช่องทางปรึกษาสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ” โดยกรมตำรวจ และบริการให้คำปรึกษาผ่านสื่อโซเชียล “Cure Time (คิวเออะไทม์)” เป็นต้น
ไม่ว่าช่องทางใดก็ตาม คุณสามารถปรึกษาได้โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือเพศวิถี

ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงทางเพศ
หมายเลขโทรศัพท์แบบย่อ “#8891”
หมายเลขนี้จะต่อไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงทางเพศที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด และประสานงานกับหน่วยงานเฉพาะทาง เช่น สถานพยาบาลสูตินรีเวช ศูนย์ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา และศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย เป็นต้น คุณสามารถเข้ารับการรักษาทั้งกายและใจจากแพทย์ รับการช่วยเหลือในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อจริงและไม่ต้องใช้บัตรประกันสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังสามารถรับการช่วยเหลือเกี่ยวกับการสืบสวน การช่วยเหลือทางกฎหมาย (เช่น การแนะนำทนายความ ฯลฯ) การร่วมเดินทางไปโรงพยาบาลหรือไปแจ้งความต่อตำรวจฯลฯ ได้ด้วย

ช่องทางปรึกษาสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ โดยกรมตำรวจ
หมายเลขโทรศัพท์แบบย่อ “#8103” (รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง)
ช่องทางนี้จะให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ การเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล และการรักษาอาการบาดเจ็บเป็นอันดับแรก
แม้จะเป็นการปรึกษาตำรวจ คุณสามารถตัดสินใจได้เองว่าจะยื่น “ใบแจ้งความ” หรือไม่

บริการให้คำปรึกษาผ่านสื่อโซเชียลเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ “Cure Time (คิวเออะไทม์)”
สามารถปรึกษาผ่านสื่อโซเชียล ทุกวันจันทร์ พุธ เสาร์ เวลา 17.00-21.00 น.
รับเรื่องโดยไม่จำกัดอายุหรือเพศ และไม่ต้องเปิดเผยชื่อจริง และสามารถปรึกษาเป็นภาษาต่างประเทศได้ด้วย

ช่องทางปรึกษาความรุนแรงในครอบครัว
หมายเลขโทรศัพท์ 0120-279-889
สามารถปรึกษาทางโทรศัพท์ อีเมล และแชทได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถปรึกษาเป็นภาษาต่างประเทศได้ด้วย

หากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ให้เข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล

สำหรับผู้หญิง ให้เข้ารับการตรวจที่คลินิกนรีเวช ขอแนะนำให้เข้ารับการตรวจโดยเร็วที่สุด หากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากถูกประทุษร้าย จะสามารถหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ได้
สำหรับผู้ชาย ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาบาดแผลภายนอกหรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แผนกศัลยกรรม แผนกทางเดินปัสสาวะ หรือแผนกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเร็วที่สุด หากรู้สึกว่าไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรแต่เพียงลำพัง ขอแนะนำให้ใช้บริการ “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงทางเพศ” หรือ “ช่องทางปรึกษาสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ” โดยกรมตำรวจ

จุดสำคัญในการปรึกษาตำรวจหรือโรงพยาบาล
การเก็บหลักฐาน (เส้นผมหรือขน อสุจิ น้ำลาย ฯลฯ) เพื่อระบุตัวและลงโทษผู้กระทำผิดเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นขอให้ไปแจ้งเรื่องโดยใส่เสื้อผ้าที่ใส่ในขณะเกิดเหตุและอย่าเข้าห้องน้ำหรือล้างทำความสะอาดร่างกาย หากเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว อย่าเพิ่งซักเสื้อผ้าที่ใส่ในขณะเกิดเหตุแต่ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปด้วย

หากมีความกังวลใจว่าอาจมีการใส่ยานอนหลับหรือยาอื่นใดลงในเครื่องดื่มหรืออาหาร โดยรู้สึกว่า “สะลึมสะลือ” ให้นำเครื่องดื่มหรืออาหารที่เหลือและภาชนะที่ใช้ก่อนที่จะถูกทำร้ายไปด้วย

หากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมาปรึกษาคุณ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังเรื่องราวของผู้ที่มาปรึกษาโดยไม่ปฏิเสธสิ่งที่เขาพูด หลีกเลี่ยงการซักถามว่า “เมื่อไร” “ที่ไหน” ฯลฯ ให้รับฟังเท่าที่เจ้าตัวจะสามารถเล่าให้ฟังได้
ความรุนแรงทางเพศเป็นอาชญากรรมซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่มีความผิด แต่มีกรณีไม่น้อยที่ตัวผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักจะตำหนิตนเอง ให้บอกเขาว่า “คุณไม่ได้ทำผิด” และแสดงให้เห็นว่าคุณยืนอยู่เคียงข้างเขา
เจ้าตัวอาจจะรู้สึกอุ่นใจหากคุณไปสถานพยาบาล หน่วยงานให้คำปรึกษา หรือสถานีตำรวจเป็นเพื่อนเขา แต่ในกรณีดังกล่าวก็ขอให้เคารพการตัดสินใจของเจ้าตัวเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างคำพูดที่ห้ามพูด
“จริงเหรอ”
“ทำไมถึงไปสถานที่แบบนั้น”
“ทำไมถึงไม่หนี”
“ทำไมไม่รีบบอก”
“ลืมไปเสียเถอะ”
“ฉันเข้าใจ” “พยายามเข้านะ” เป็นต้น