What is Sexual Health?

เพศวิถีคืออะไร

เพศวิถีและเพศสภาพ

“เพศวิถี (Sexuality)” เป็นคำที่ใช้แสดงถึงลักษณะทางเพศโดยรวมของมนุษย์ อาจรู้สึกว่าเป็นคำที่มีความคลุมเครือแต่เป็นคำที่ควรรู้ไว้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยทางเพศ (Sexual Minority) เช่น LGBTQ และเพศสภาพ การให้คำจำกัดความเพศวิถีอย่างชัดเจนเป็นเรื่องยาก แต่กล่าวกันว่ามีองค์ประกอบ 4 ประการดังต่อไปนี้

(1) เพศทางชีวภาพ (Sex)

หมายถึงเพศที่ได้รับการจำแนกกลุ่มจากการตัดสินทางการแพทย์ ณ เวลาเกิด หมายถึงเพศสรีระ
การตัดสินทางการแพทย์จะกระทำการโดยตัดสินจากอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกแต่มีกรณีที่ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ยาก ในกรณีดังกล่าวจะตัดสินโดยการตรวจสอบสภาพอวัยวะสืบพันธุ์ภายในอย่างละเอียด
เมื่อมีการตัดสินทางการแพทย์แล้วจะระบุเพศลงในใบแจ้งเกิด สำหรับคู่มือแม่และเด็ก นอกจากจะมีตัวเลือกเพศชายและหญิงแล้ว จะมีตัวเลือกแสดงว่าเพศไม่เป็นที่ชัดเจน ซึ่งตัวเลือกที่ว่า “ไม่เป็นที่ชัดเจน” นี้เป็นตัวเลือกที่ใช้จนกว่าจะทำการตัดสินทางการแพทย์ในกรณีที่ระบุเพศโดยรูปลักษณ์ภายนอกได้ยาก

(2) อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)

หมายถึงการรับรู้เพศของตนเองว่าเป็นเพศใด เพศทางใจ
นอกจากเพศชายและเพศหญิง ยังมีสภาพที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเพศใด (กำลังค้นหาคำตอบ หรือที่เรียกว่า Questioning) และเพศที่ไม่ใช่ทั้งเพศชายและเพศหญิงตามการตัดสินทางการแพทย์ (เพศ X) เป็นต้น

(3) เพศสภาพ (Gender)

คุณลักษณะทางเพศที่เป็นที่คาดหวังในสังคม
หมายถึงพฤติกรรมและบทบาทตามเพศที่สังคมคาดหวัง ซึ่งรวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก การแต่งกาย ท่าทาง และพฤติกรรมทางวาจา เป็นต้น สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าหมายถึงแนวคิดที่ว่า “สมกับเป็นชาย” “สมกับเป็นหญิง” “ผู้ชายควรเป็นแบบนี้” “ผู้หญิงควรเป็นแบบนี้”

(4) รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation)

การรับรู้ว่าตนเองมีความรู้สึกรักหรือมีอารมณ์ความรู้สึกต่อความดึงดูดทางเพศกับเพศใด
รสนิยมทางเพศมีความหลากหลาย เช่น ชอบผู้หญิง ชอบผู้ชาย ชอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีความรู้สึกรักหรือมีอารมณ์ความรู้สึกต่อความดึงดูดทางเพศของผู้อื่นโดยไม่สำคัญว่าอีกฝ่ายจะเป็นเพศใด

เพศสภาพคืออะไร

เพศสภาพ (Gender) หมายถึงเพศที่ถูกกำหนดขึ้นในทางสังคมและวัฒนธรรม เพศสภาพเป็นสิ่งที่อยู่คนละมิติกับเพศทางชีวภาพ (เพศสรีระ) หมายถึงบทบาททางเพศที่เป็นที่คาดหวังในสังคม เช่น ผู้ชายควรออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงควรทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และดูแลพ่อแม่ เป็นต้น ซึ่งเพศสภาพนี้เองเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก อคติ ตลอดจนความไม่เท่าเทียมต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศซึ่งมิได้เกิดขึ้นระหว่างชายหญิงเท่านั้น
หลายปีมานี้ มีการกระตุ้นจิตสำนึกในการกำจัดการแบ่งแยก อคติ และความไม่เท่าเทียมอันมาจากเพศสภาพ เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมซึ่งไม่ว่าจะมีเพศวิถีเช่นไรก็จะได้รับการเคารพสิทธิ โดยเกิดการปฏิรูปไปพร้อมกับการกระตุ้นกิจกรรมต่าง ๆ

LGBTQ คืออะไร

มีคำศัพท์ต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ที่ได้ยินกันบ่อยคือคำว่า “LGBTQ” ซึ่ง “L” หมายถึงเลสเบี้ยน “G” หมายถึงเกย์ “B” หมายถึงไบเซ็กชวล “T” หมายถึงทรานส์เจนเดอร์ และ “Q” เป็นอักษรย่อของคำว่าเควสชันนิง

L : Lesbian (เลสเบี้ยน)
ผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน หมายถึงผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็น “หญิง” รสนิยมทางเพศเป็น “หญิง”

G : Gay (เกย์)
ผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน หมายถึงผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็น “ชาย” รสนิยมทางเพศเป็น “ชาย”

B : Bisexual (ไบเซ็กชวล)
ผู้ที่สามารถมีความรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง หมายถึงผู้ที่มีรสนิยมทางเพศเป็นทั้ง “หญิง” และ “ชาย”

T : Transgender (ทรานส์เจนเดอร์)
ผู้ที่รู้สึกผิดแปลกต่อเพศทางชีวภาพของตนเนื่องจากเพศทางชีวภาพไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ
ที่ผ่านมาภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพถูกจัดเป็นความผิดปกติทางจิตใจ แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนได้ทำความเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นหนึ่งในความหลากหลายทางเพศ สามารถเรียกผู้ที่เลือกใช้ชีวิตโดยไม่ยึดติดว่าจะเป็นเพศใดว่าทรานส์เจนเดอร์ได้เช่นกัน

Q : Questioning (เควสชันนิง)
หมายถึงกลุ่มผู้ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศเช่นไร

มีการใช้คำว่า LGBTQ ในความหมายของชนกลุ่มน้อยทางเพศ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำศัพท์ต่อไปนี้เพื่อแสดงถึงเพศวิถีต่าง ๆ อีกด้วย

Pansexual (แพนเซ็กชวล)
หมายถึงผู้ที่มีความรู้สึกรักหรือมีอารมณ์ความรู้สึกต่อความดึงดูดทางเพศของบุคคลอื่นโดยไม่จำกัดเพศ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ผู้รักทุกเพศ” เรียกได้อีกอย่างว่า Omnisexual (ออมนิเซ็กชวล)

Polysexual (โพลีเซ็กชวล)
หมายถึงผู้ที่มีความรู้สึกรักหรือมีอารมณ์ความรู้สึกต่อความดึงดูดทางเพศของบุคคลอื่นที่มีความหลากหลายทางเพศ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ผู้รักหลายเพศ” ต่างจากแพนเซ็กชวลตรงที่ “เพศวิถีเป็นเงื่อนไขของคนที่จะรู้สึกรัก” และ “มีเพศวิถีที่ไม่รู้สึกรักอยู่ด้วย”

Asexual (เอเซ็กชวล)
หมายถึงผู้ที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่หรือไม่มีความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ผู้ไม่ฝักใจทางเพศ” กลุ่มนี้แตกต่างจาก “ผู้รังเกียจทางเพศ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่รังเกียจการมีเพศสัมพันธ์ หรือ “ผู้ไร้อารมณ์ทางเพศ” ที่ไม่มีความต้องการทางเพศเลย

จะเห็นได้ว่ารสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศมีความหลากหลาย “จิตใจ” เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในเพศวิถี ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเพศทางชีวภาพ (Sex) เสมอไป นอกจากนี้ การที่ความรู้สึกรักหรือมีอารมณ์ความรู้สึกต่อความดึงดูดทางเพศของบุคคลอื่นจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีเพศวิถีเช่นไรนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน เราไม่ควรปฏิเสธรสนิยมทางเพศของผู้อื่นแต่ควรให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
การยอมรับความหลากหลายของเพศวิถีเป็นการให้เกียรติบุคคลอื่น และจะนำไปสู่การกำจัดอคติ การแบ่งแยก และความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากเพศสภาพ