Hepatitis C

ไวรัสตับอักเสบ C (Hepatitis C)

ไวรัสตับอักเสบ C เป็นโรคตับจากเชื้อไวรัสซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C (Hepatitis C virus)

เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จะเกิดตับอักเสบเฉียบพลันแต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการไม่รุนแรงและส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ แต่จะลุกลามเป็นตับอักเสบเรื้อรังด้วยอัตราที่สูงถึง 70%
เมื่ออาการลุกลามเป็นตับอักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบในตับอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เนื้อเยื่อตับแข็งตัวและจะค่อย ๆ กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตับแข็งในที่สุด ตับแข็งระยะแรกจะไม่แสดงอาการที่รู้สึกได้แต่เมื่อก่อตัวเป็นพังผืดมากขึ้นและปริมาณเนื้อเยื่อปกติน้อยลง นอกจากจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและไม่เจริญอาหารแล้วยังจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ภาวะดีซ่าน ท้องมาน หลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร ม้ามโต ภาวะโรคสมองจากตับ (ไม่มีสมาธิหรือมีอาการโคม่า) นอกจากนี้ ยิ่งการก่อตัวเป็นพังผืดลุกลามขึ้นจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเป็นมะเร็งตับ

เส้นทางการติดเชื้อและวิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ C

ไวรัสตับอักเสบ C จะแพร่เชื้อผ่านเลือดหรือสารหลั่งจากร่างกายที่มีเลือดผสม
ในอดีตสาเหตุหลักของการติดเชื้อมาจากการถ่ายเลือด บุคลากรทางการแพทย์ประสบอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก เป็นต้น แต่ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมช่วยลดการติดเชื้อจากเส้นทางเหล่านี้จนแทบไม่เกิดขึ้นอีก
ในชีวิตประจำวันแทบจะไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหากใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี โดยไม่ใช้ของใช้ประจำวันที่มีคราบเลือดติดร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด หรืออื่น ๆ สิ่งของที่เปื้อนเลือดควรนำไปล้างให้สะอาดหรือห่อให้มิดชิดแล้วทิ้ง สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำหัตถการใด ๆ ที่จะเปื้อนเลือดในสถานที่ที่สุขอนามัยไม่ดี

หากหญิงมีครรภ์ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C อาจแพร่เชื้อสู่ทารกผ่านทางเลือดในช่องทางคลอด อัตราการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกอยู่ที่ราว ๆ 5-10%

ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลว่าแทบจะไม่มีการติดเชื้อนี้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แต่หลายปีมานี้พบว่ามีการติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น นอกจากจะสงสัยได้ว่ามีการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่มีเลือดออกง่ายแล้ว ยังทราบว่าพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ C เจือปนอยู่ในน้ำดีและอุจจาระในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับส่วนอื่น จึงพิจารณาได้ว่าการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นสาเหตุของความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน

ในประเทศอื่น ๆ มีการดำเนินการลดอันตรายจากยาเสพติดโดยแจกจ่ายเข็มฉีดยาที่สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV หรือ HCV สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดทางหลอดเลือดดำ ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีกรณีที่ติดเชื้อ HIV หรือ HCV จากการใช้ยาเสพติดทางหลอดเลือดเป็นจำนวนไม่มาก การใช้ยาเสพติดที่ไม่ใช่ยาเสพติดเพื่อการรักษาโรคเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องรับโทษขั้นรุนแรง

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ C

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ C มีการตรวจเลือด 2 วิธี ได้แก่ การตรวจหาแอนติบอดีที่สร้างขึ้นเมื่อมีไวรัสเข้าสู่ร่างกาย และวิธีตรวจแบบ HCV-RNA เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม RNA ของไวรัส
หากเคยติดเชื้อมาก่อน แม้จะกำจัดเชื้อไวรัสออกนอกร่างกายหมดแล้วผลการตรวจแอนติบอดีก็จะยังเป็นบวก โดยปกติผู้ที่ผลการตรวจแอนติบอดีเป็นบวกจะต้องตรวจ HCV-RNA เพื่อตรวจสอบว่ายังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C อย่างต่อเนื่องถึงขณะนี้หรือไม่

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ C

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ C มี 2 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสเพื่อขับเชื้อไวรัสออกนอกร่างกาย และวิธีรักษาโดยการคุ้มครองตับซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองตับและยับยั้งการลุกลามของโรคสำหรับกรณีที่ไม่สามารถขับเชื้อไวรัสออกนอกร่างกายไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ระยะหลายปีที่ผ่านมาการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสมีวิวัฒนาการเป็นอย่างมากซึ่งเมื่อรับประทานยาต้านไวรัสแล้วจะขับไวรัสออกนอกร่างกายได้สำเร็จในอัตราที่สูง

กรณีที่การติดเชื้อไม่ลุกลามเป็นภาวะเรื้อรังและไวรัสถูกขับออกนอกร่างกายได้เองจะไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด แพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษาโดยพิจารณาอย่างเพียงพอว่าโรคลุกลามเป็นภาวะเรื้อรังแล้วหรือยัง วิธีรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น หากเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีแล้วสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ให้รีบเข้ารับการตรวจกับแพทย์โดยเร็ว