โรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือไวรัส HPV ชนิดความเสี่ยงสูง และมะเร็งปากมดลูกคืออะไร

โรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือไวรัส HPV ชนิดความเสี่ยงสูง และมะเร็งปากมดลูกคืออะไร

มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนักบางชนิดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาที่ชนิดความเสี่ยงสูง มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงเป็นอันดับที่ 5เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงนับว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับหูดหงอนไก่
เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาเป็นไวรัสที่พบได้ทั่วไปซึ่งมีผู้คนติดเชื้อนี้เป็นจำนวนมาก มีสายพันธุ์เกือบ 200 ชนิด โดยแต่ละชนิดก่อให้เกิดโรคและประเภทของโรคที่แตกต่างกันไป เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดโรคแม้จะติดเชื้อ แต่บางชนิดเป็นสาเหตุของหูดหรือมะเร็ง

เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ง่ายหากติดเชื้อเรียกว่าชนิดความเสี่ยงสูง (หลัก ๆ คือสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งภายในปาก และส่วนอื่น ๆ ชนิดที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่เรียกว่าชนิดความเสี่ยงต่ำ (หลัก ๆ คือสายพันธุ์ 6 และสายพันธุ์ 11) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาอีกชนิดหนึ่ง แม้จะติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงจะไม่แสดงอาการในระยะหนึ่ง เชื้อไวรัสเกือบ 90% จะหายไปเองโดยส่วนที่เหลือจะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและจะค่อย ๆ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติในเซลล์ส่วนปากมดลูกโดยใช้เวลานานหลายปีจนถึงหลายสิบปี หากเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีอาการไม่หนักภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อออกไปได้ แต่ส่วนหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เรื่อย ๆ และพัฒนาเป็นมะเร็ง มะเร็งปากมดลูกระยะแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการแต่อาจมีเลือดออกผิดปกติซึ่งไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีเลือดออกจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีตกขาวเพิ่มขึ้น

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูง

เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาติดต่อโดยแทรกซึมผ่านรอยแผลเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบนเยื่อเมือกระหว่างมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ไม่ว่าใครก็ตามหากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อได้

แม้โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมากระจายตัวอยู่ในวงกว้างรอบ ๆ อวัยวะเพศ ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100%
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเพื่อป้องกันการติดไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมานอกจากนี้วัคซีนยังช่วยป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนแม้หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน

*เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการประกาศว่าพบอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนซึ่งยากที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับวัคซีน จึงไม่แนะนำให้รณรงค์ฉีดวัคซีนเป็นระยะในเชิงรุกจนกว่าจะสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้ แต่ทั้งนี้มิได้เป็นการสั่งหยุดการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาเป็นระยะ แต่เป็นการแนะนำให้ทำความเข้าใจประสิทธิผลและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีน
https://www.mhlw.go.jp/bunya/kenkou/kekkaku-kansenshou28/index.html

วิธีตรวจโรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูง

แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงแล้วก็ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการเข้ารับการตรวจเป็นระยะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจเป็นระยะอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี

วิธีการตรวจมีทั้งการวินิจฉัยเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูเซลล์ส่วนปากมดลูกว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และการตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงหรือไม่ เป็นที่ทราบแล้วว่าเซลล์ส่วนปากมดลูกส่วนใหญ่จะกลับสู่สภาพปกติหลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติและเกิดเป็นการเจริญผิดปกติ แต่ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นมะเร็ง หากพบความผิดปกติใด ๆ ในการวินิจฉัยเซลล์จะต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป

การตรวจวินิจฉัยเซลล์อาจไม่สามารถตรวจพบรอยโรคมะเร็ง การตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงหรือไม่จะมีประโยชน์ในการพิจารณารอยโรคที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยเซลล์

วิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูง

แม้จะติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงแต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เชื้อไวรัสเกือบ 90% จะหายไปเอง แม้จะทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาชนิดความเสี่ยงสูงแต่ก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในทุกกรณี

หากตรวจพบโรคในระยะแรกจะสามารถรักษามะเร็งปากมดลูกได้อย่างถึงรากถึงโคน ดังนั้นการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเซลล์ส่วนปากมดลูกเป็นระยะจึงเป็นสิ่งสำคัญ แนะนำให้เข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี